สร้างเว็บไซต์ด้วย Google Sites  เชื่อมต่อโดเมน .th

สร้างเว็บไซต์ด้วย Google Sites เชื่อมต่อโดเมน .th

มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THAI NETWORK INFORMATION CENTER FOUNDATION) 

       เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งเน้นด้านการส่งเสริมและพัฒนาการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย มูลนิธิฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2541 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการใช้งานชื่อโดเมน
      “.th” และ “.ไทย” ทั้งในรูปแบบสนับสนุนการศึกษา การวิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เป้าหมายสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตไทย ในด้านเทคโนโลยี ความรู้ ความเร็วอินเทอร์เน็ต และการลดต้นทุน ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย ได้ที่เว็บไซต์ https://www.thnic.or.th

ประวัติและโครงสร้างระบบชื่อโดเมน

       อินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายสาธารณะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ถือกำเนิดขึ้นบนโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 จากโครงการ ARPANET (Advanced Research Projects Agency Network) โครงการวิจัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ ที่ได้เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ของศูนย์งานวิจัย 4 มหาวิทยาลัยเข้าด้วยกัน
      ปี พ.ศ. 2514 เครือข่าย ARPANET ขยายใหญ่ขึ้นและสามารถเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้มากขึ้น จากการศึกษาเรื่องเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในช่วงระยะเวลานั้น นักวิจัยผู้พัฒนาเครือข่ายหลายคนได้เล็งเห็นถึงปัญหาความยุ่งยากของการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีหลากหลายชนิดและหลากหลายผลิตภัณฑ์ เข้าด้วยกัน แนวความคิดในการกำหนดมาตรฐานกลางหรือโพรโทคอล TCP/IP (Transmission Control Protocol / Internet Protocol) จึงเกิดขึ้น เพื่อให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีความหลากลหลายสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้  โดยเรียกเครือข่ายที่เชื่อมโยงด้วยโพรโทคอลนี้ว่า อินเทอร์เน็ต (Internet)
      มาตรฐานการเชื่อมโยงโพรโทคอล TCP/IP จะมีการกำหนดเลขที่อยู่ไอพี (Internet Protocol address: IP address) ทำหน้าที่เสมือนเลขที่ป้ายทะเบียนกำกับอุปกรณ์ทุกชนิดที่เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้แต่ละอุปกรณ์สื่อสารกันได้ เลขที่อยู่ไอพี่จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะช่วยระบุที่อยู่ของอุปกรณ์นั้น ๆ ในระบบเครือข่าย
      เลขที่อยู่ไอพีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเลขที่อยู่ไอพีรุ่นที่ 4 (IPv4) เป็นชุดตัวเลข 32 บิต ที่ถูกแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงละ 8 บิต ใน 1 ช่วงจะมีค่าตั้งแต่ 0 – 255 เช่นนั้น IPv4 จึงมีค่าได้ตั้งแต่ 0.0.0.0 – 255.255.255.255 สามารถระบุที่อยู่ของอุปกรณ์ได้ถึง 4,294,967,296 อุปกรณ์ แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงชุดตัวเลขที่มีขนาดกว้างมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะแจกจ่ายได้ทั่วโลก จึงมีการกำหนดเลขที่อยู่ไอพีรุ่นที่ 6 (IPv6) เพื่อรองรับการเชื่อมต่อในปริมาณที่มากขึ้นตามการเติบโตของอินเทอร์เน็ตนั่นเอง
      เลขที่อยู่ไอพีประกอบด้วยชุดตัวเลขหลายชุดซึ่งยากต่อการจดจำ การกำหนด ชื่อโดเมน (Domain Name) เพื่อเป็นชื่อที่ใช้ระบุตัวตนของเครื่องแทนการใช้เลขที่อยู่ไอพีจึงเกิดขึ้น โดยต้องจดทะเบียนไว้กับหน่วยงานที่จัดการโดเมนอย่างบริษัท ที.เอช.นิค จำกัด (https://thnic.co.th) จึงจะใช้งานได้ ชื่อโดเมนสามารถนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของที่อยู่เว็บไซต์ (web Address หรือ Uniform Resource Locator: URL) หรือที่อยู่อีเมล (email address) ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้อ้างถึงเว็บไซต์หรือที่อยู่อีเมลได้ง่าย และไม่ต้องเปลี่ยนชื่อโดเมนแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเลขที่อยู่ไอพีก็ตาม


ชื่อโดเมนประกอบด้วยหลายส่วน แต่ละส่วนจะคั่นด้วยเครื่องหมายจุด (.) และมีความหมายเฉพาะ เช่น thnic.or.th


       ชื่อโดเมนระดับบนสุด (Top Level Domain: TLD) แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ แบบทั่วไป (Generic Top-level domain: gTLD) และแบบรหัสประเทศ (Country Code Top-Level Domain: ccTLD) เช่น th แทนประเทศไทย cn แทนประเทศจีน in แทนประเทศอินเดีย ตัวอย่างโดเมนระดับบนสุด

ชื่อโดเมนระดับที่สองที่ใช้ในประเทศไทย
ได้มีการกำหนดรูปแบบการใช้งานดังตาราง

       นอกจากนี้ยังมีชื่อโดเมนระดับที่สองภายใต้ .ไทย ได้แก่ ธุรกิจ.ไทย รัฐบาล.ไทย องค์กร.ไทย ทหาร.ไทย ศึกษา.ไทย เน็ต.ไทย ส่วนชื่อโดเมนในระดับที่สามโดยทั่วไปจะเป็นชื่อเต็มหรือชื่อย่อของหน่วยงาน ยี่ห้อสินค้าหรือบริการ

ข้อมูลเพิ่มเติม:  

       ICANN (The Internet Corporation for Assigned Names and Numbers) เป็นองค์กรเอกชนที่รับผิดชอบในการดำเนินการทางเทคนิคสำหรับระบบชื่อโดเมน (DNS) และนโยบายที่กำหนดวิธีการทำงานของชื่อและที่อยู่ของอินเทอร์เน็ต
      IANA (The Internet Assigned Numbers Authority) เป็นส่วนงานย่อยของ ICANN รับผิดชอบองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การทำงานของอินเทอร์เน็ตเป็นไปอย่างราบรื่น โดยการจัดสรรเลขที่อยู่ไอพีให้แต่ละ Region และดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามโพรโทคอลที่กำหนด

ประวัติอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย และการบริหารโดเมน .TH และ .ไทย

       อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เริ่มต้นจากความต้องการติดต่อสื่อสารผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) กับอาจารย์ที่ปรึกษาในมหาลัยวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ของ ศ. ดร.กาญจนา กาญจนสุต จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ด้วยความพยายามติดตั้งเครื่องแม่ข่ายและอุปกรณ์เชื่อมต่อผ่านสายโทรศัพท์ทางไกลต่างประเทศ ทำให้ในปี พ.ศ. 2529 ประเทศไทยสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เป็นครั้งแรก ด้วยความเร็วเพียง 2400 bps (bits per second)
      จากนั้นในปี พ.ศ. 2531 สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ได้รับหน้าที่เป็นศูนย์กลางของประเทศไทยในการเชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ภายใต้โครงการ TCSNet หรือ Thai Computer Science Network เพื่อรับ-ส่งอีเมลเป็นรายครั้งผ่านการหมุนโทรศัพท์ไปยังเครื่องแม่ข่ายที่ประเทศออสเตรเลีย
      ในปีเดียวกันนี้ ศ. ดร.กาญจนา กาญจนสุต มีแนวความคิดให้นักวิจัยไทยได้มีอีเมลที่ลงท้ายด้วย .th เป็นของตนเองแทนที่การใช้ .au จึงติดต่อไปยังคุณโจนาธาน บรูซ โพสเทล (Jonathan Bruce Postel หรือ Jon Postel) ผู้ให้กำเนิดมาตรฐานการสื่อสารคอมพิวเตอร์ผ่านอินเทอร์เน็ต รับผิดชอบการดูแลทรัพยากรอินเทอร์เน็ตโลก รวมไปถึงชื่อโดเมน คุณโจนาธานจึงได้มอบชื่อโดเมนแทนประเทศไทย .th ให้ ศ. ดร.กาญจนา กาญจนสุต ได้เป็นผู้ดูแลนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
      หลังจากได้รับชื่อโดเมนแทนประเทศไทย .th มาดูแลเป็นที่เรียบร้อย ช่วงเวลานั้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น อัตราการเติบโตของผู้ใช้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์เป็นตัวเลือกกับผู้ใช้เพิ่มขึ้น จึงได้เกิดการประชุมร่วมกันระหว่างนักวิจัยและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เพื่อวางแนวทางในการบริหารจัดการชื่อโดเมน .th ซึ่งเป็นผลให้เกิดโครงสร้างชื่อโดเมนระดับที่สอง ขึ้น เช่น .co.th .ac.th .or.th .go.th และกลุ่มผู้ดูแลชื่อโดเมน .th ได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์สารสนเทศเครือข่ายประเทศไทย หรือ THNIC มีหน้าที่รับจดทะเบียนชื่อโดเมนต่าง ๆ ที่ลงท้ายด้วย .th โดยในปัจจุบันคือ มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย รับบทบาทเป็นผู้บริหารจัดการนโยบายการใช้งาน .th และ .ไทย มีบริษัท ที.เอช.นิค จำกัด เป็นผู้ให้บริการรับจดทะเบียนชื่อโดเมน (Registrar) .th ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2542 และ .ไทย ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 มีบริษัท ไทย เนม เซิฟเวอร์ จำกัด เป็นผู้ดูแลฐานข้อมูลและระบบโดเมนเนมเซิฟเวอร์ (Registry) ภายใต้ความมุ่งหวังให้ชื่อโดเมน .th และ .ไทย มีความน่าเชื่อถือ สามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้ถือครองชื่อโดเมนและผู้ใช้บริการได้

ความสำคัญของการมีชื่อโดเมน และข้อดีของการใช้โดเมน .TH
      ชื่อโดเมน .th และ .ไทย มีความแตกต่างจากชื่อโดเมนอื่น ๆ ที่ใช้กันทั่วไป เนื่องจากเป็นชื่อโดเมนระดับบนสุด แบบรหัสประเทศ หรือ Country Code Top-Level Domain Name (ccTLD) ซึ่ง th เป็นตัวย่อของประเทศไทย ดังนั้นการใช้ชื่อโดเมน .th จะแสดงถึง

โดเมนภาษาท้องถิ่น .ไทย อีเมลภาษาไทย และการรองรับ

       .ไทย ถือเป็นชื่อโดเมนระดับบนสุดแบบรหัสประเทศ (Country Code Top-Level Domain) ที่เป็นภาษาท้องถิ่น (Internationalized Domain Name: IDN) ในปัจจุบันทั่วโลกกำลังรณรงค์ให้มีการใช้ชื่อโดเมนและอีเมลที่เป็นภาษาท้องถิ่น (ภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก) เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานของประชากรโลกส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติอย่างเช่น ภาษาไทย ภาษามลายู ภาษาเวียดนาม ภาษาจีนกลาง ภาษาฮินดี ฯลฯ ตัวอย่างของโดเมนภาษาท้องถิ่นสำหรับภาษาไทย เช่น รู้จัก.ไทย เว็บครู.ไทย คน.ไทย พระลาน.ไทย เป็นต้น
      ชื่อโดเมนภาษาท้องถิ่น ช่วยให้เจ้าของเว็บไซต์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานที่ใช้ภาษาท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัลอันเกิดจากภาษา ทำให้คนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ สามารถเข้าถึงข้อมูลในอินเทอร์เน็ตได้กว้างขวางขึ้น ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการไม่สามารถจดจำชื่อเว็บไซต์ที่เป็นภาษาอังกฤษได้ และเจ้าของเว็บไซต์ก็ไม่จำเป็นต้องพยายามสะกดชื่อเว็บไซต์ทับศัพท์เป็นภาษาอังกฤษ หากชื่อของแบรนด์เป็นภาษาไทยอยู่แล้วและเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไทย
      การมีชื่อโดเมนภาษาท้องถิ่น ทำให้เกิดอีเมลภาษาท้องถิ่น (Email Address Internationalization) ตามมา เช่น ติดต่อ@คน.ไทย เป็นต้น ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกันคือ ทำให้คนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษสามารถจดจำชื่ออีเมลและสื่อสารผ่านอีเมลถึงกันได้ เนื่องจากชื่อโดเมนและอีเมล มักถูกใช้เป็นสิ่งระบุตัวตนบนโลกอินเทอร์เน็ต เช่น การสมัครขอใช้บริการต่าง ๆ จะขออีเมลเพื่อใช้เป็นรหัสผู้ใช้ รวมถึงใช้ในการส่งข้อความยืนยันตัวตน ทางองค์กรอินเทอร์เน็ตสากล (ICANN) จึงได้เร่งผลักดันให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถกรอกชื่อโดเมนและอีเมลภาษาท้องถิ่นในแบบฟอร์ม ซึ่งปัจจุบันหลาย ๆ เว็บไซต์ได้เริ่มเปิดให้กรอกภาษาท้องถิ่นลงในแบบฟอร์ม หรืออนุญาตให้ใช้อีเมลภาษาท้องถิ่นเป็นรหัสผู้ใช้ได้แล้ว
      เงื่อนไขการจดทะเบียนชื่อโดเมนภาษาท้องถิ่น .ไทย คือ ชื่อนั้นจะต้องแปล (ความหมายเดียวกัน) หรือ ออกเสียงได้เหมือนกันทั้ง 2 ภาษา (ภาษาอังกฤษและภาษาไทย) 

การจดทะเบียนชื่อโดเมน (สำหรับการอบรมหลักสูตรโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การทำเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th)

       การจดทะเบียนชื่อโดเมนรหัสประเทศไทยทุกชื่อต้องดำเนินการผ่าน “นายทะเบียน (Registrar)” ได้แก่ บริษัท ที.เอช.นิค จำกัด ซึ่งเป็นนายทะเบียนผู้ให้บริการรับจดทะเบียนชื่อโดเมน .th และ .ไทย ที่ได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเพียงรายเดียวจากมูลนิธิฯ (ดูเพิ่มเติมที่ thnic.co.th) ในการนี้ นายทะเบียนได้มีระบบให้บริการผ่านทางตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาต (Authorized Reseller)  สำหรับการอบรมภายใต้โครงการนี้ ผู้เข้ารับการอบรมสามารถจดทะเบียนชื่อโดเมนได้ผ่านตัวแทนจำหน่ายฯ DotArai ที่เว็บไซต์ https://register.dotarai.com ด้วยขั้นตอนที่ง่าย ๆ ตามคำแนะนำบนหน้าเว็บ https://register.dotarai.com/HomeFaq


โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การทำเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th 

สิทธิสำหรับผู้เข้าร่วมการอบรม

สิทธิสำหรับผู้ผ่านการอบรม

อ่านรายละเอียดและสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ https://www.webkru.in.th

👨‍👩‍👧‍👦.th ดีอย่างไร? 👨‍👩‍👧‍👦

เอกสารประกอบการอบรมเชิงปฏิบัติการการทำเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน.th.pdf